มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2566-2570)

                               คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) เสนอดังนี้
                   1. เห็นชอบข้อเสนอมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2566-2570) และรับทราบผลการดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562-2565) พร้อมปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ (เมื่อสิ้นสุดมาตรการ) ตามมติ คปร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566
                   2. ให้องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคล ส่วนราชการในกำกับของฝ่ายบริหารและหน่วยงานภาครัฐ1 นำหลักการและแนวทางของมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐฯ ไปปรับใช้เพื่อให้การกำกับดูแล การควบคุมขนาดกำลังคนและภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
                   3. ให้ฝ่ายเลขานุการร่วม คปร.2 และสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกันกำหนดรูปแบบและแนวทางในการเชื่อมโยงและบูรณาการการจัดทำฐานข้อมูลด้านกำลังคนภาครัฐและงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เพื่อให้ส่วนราชการในกำกับของฝ่ายบริหารและหน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลกำลังคนภาครัฐทุกประเภท และรายงานข้อมูลดังกล่าวให้ คปร. ทราบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ ทบทวน หรือจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านกำลังคนและงบประมาณต่อไป
                   สาระสำคัญ
                   1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 มีนาคม 2562) เห็นชอบมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ       (พ.ศ. 2562-2565) ตามมติ คปร. (15 กุมภาพันธ์ 2562) ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก ได้แก่ (1) มาตรการพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์และ (2) มาตรการบริหารอัตรากำลังปกติ ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแนวทางการนำมาตรการบริหารจัดการกำลังภาครัฐไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งรวมถึงให้ คปร. รายงานผลการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตลอดจนปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรการฯ
                   2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (28 มิถุนายน 2565) รับทราบรายงานสรุปภาพรวมการบริหารกำลังคนของส่วนราชการในฝ่ายพลเรือนและแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ และเห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อให้การบริหารอัตรากำลังของภาคราชการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. เสนอ ซึ่งรวมถึงให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนนำแนวทางการบริหารอัตรากำลังของ คปร. ไปปรับใช้อย่างจริงจังเพื่อให้การกำกับดูแลการควบคุมขนาดกำลังคนและภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคคลของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำนักงาน ก.พ. จะนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐในระยะต่อไป
                   3. ที่ผ่านมาสำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. ได้จัดประชุมหารือระหว่างผู้แทนหน่วยงานกลางและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐในระยะต่อไปซึ่งมีการวิเคราะห์ครอบคลุมข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกำลังคนของส่วนราชการ พบว่า ส่วนราชการหลายแห่งอาจยังไม่ตระหนักถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และสัดส่วนคำของบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของส่วนราชการเพิ่มขึ้น แต่มิได้ถูกนำไปใช้เพื่อทดแทนกำลังคนที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ อีกทั้งส่วนราชการหลายแห่งมีคำขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และไม่ดำเนินการตามแนวทางของมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐอย่างเคร่งครัดเท่าที่ควร ดังนั้น  จึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วนในการตรึงอัตรากำลังคนภาครัฐทุกประเภทไว้ระยะหนึ่ง เพื่อควบคุมกำลังคนและลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของประเทศควบคู่ไปกับการปรับขนาดกำลังคนภาครัฐให้มีความเหมาะสม ซึ่ง คปร. ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 มีมติเห็นชอบในหลักการของข้อเสนอมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2566-2570) และรับทราบผลการดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ      (พ.ศ. 2562-2565) พร้อมปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ และให้เสนอประธาน คปร. และเสนอคณะรัฐมนตรี ตามลำดับ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                             3.1 ผลการดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2562-2565) พร้อมปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ (เมื่อสิ้นสุดมาตรการ) สรุปได้ ดังนี้
                                      3.1.1 ผลการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการและลูกจ้างประจำ (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม 2566) สรุปได้ ดังนี้

ข้าราชการพลเรือนสามัญ
มีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการพลเรือนสามัญ รวม 26,781 อัตรา (1) จัดสรรคืนให้ส่วนราชการเดิมทันที จำนวน 19,121 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 71.40 (2) ทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น จำนวน 2,439 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 9.10 และ (3) จัดสรรคืนให้ส่วนราชการเดิมหรือเกลี่ยให้ส่วนราชการอื่นในสังกัดกระทรวง จำนวน 5,221 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 19.50
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
มีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวม 69,134 อัตรา (1) จัดสรรคืนให้ส่วนราชการ จำนวน 69,019 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 99.83 และ (2) ทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น จำนวน 115 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 9.60 จากจำนวนผลการเกษียณอายุของตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค. (2) ในหน่วยงานการศึกษา สังกัด ศธ. จำนวน 1,183 อัตรา
ข้าราชการตำรวจ
มีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการตำรวจ รวม 17,696 อัตรา โดยเป็นชั้นสัญญาบัตร จำนวน 3,854 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 21.78 และชั้นประทวน จำนวน 13,842 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 78.22 โดยจัดสรรอัตราคืนให้ส่วนราชการทั้งหมด
ลูกจ้างประจำ
มีอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุหรือว่างโดยเหตุอื่นในระหว่างปีของลูกจ้างประจำ รวม 22,794 อัตรา ซึ่งเป็นอัตราที่ต้องยุบเลิกทั้งหมด

                                      3.1.2 ผลการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่และการบริหารอัตราข้าราชการตั้งใหม่ โดยในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2562-2565 คปร. ได้พิจารณาอนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับส่วนราชการ จำนวน 27 ส่วนราชการ รวม 60,921 อัตรา (ข้อมูล ณ วันที่ 20 มกราคม 2566) ทั้งนี้ มีปัญหาและอุปสรรคโดยส่วนราชการไม่สามารถดำเนินการสรรหา บรรจุและแต่งตั้งอัตราข้าราชการตั้งใหม่ที่ได้รับจัดสรรให้แล้วเสร็จโดยเร็วหรือภายในระยะเวลา 1 ปี ตามแผนการสรรหาภายในกรอบระยะเวลาและเงื่อนไขที่นำเสนอต่อ คปร. โดยมีสาเหตุอันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
                             3.2  มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2566-2570) (มาตรการที่เสนอในครั้งนี้) มีหลักการมุ่งเน้นการบริหารกำลังคนให้สมดุลกับบทบาทภารกิจของภาครัฐ ควบคุมการเพิ่มอัตรากำลังภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสม พัฒนาบุคลากรภาครัฐทุกประเภทให้มีความรู้ความสามารถสูง มีทักษะการคิดวิเคราะห์ และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดให้นำมาตรการดังกล่าวมาใช่ในการบริหารกำลังคนภาครัฐที่ครอบคลุมส่วนราชการและหน่วยงานในกำกับของฝ่ายบริหารที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประเภทงบบุคลากร ได้แก่ 1) ข้าราชการ (ไม่รวมข้าราชการทหาร) 2) พนักงานราชการ 3) ลูกจ้างประจำ และ 4) ลูกจ้างชั่วคราว มีผลบังคับใช้ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) หรือจนกว่าจะมีมาตรการฉบับใหม่มาใช้บังคับแทน อย่างไรก็ดี มาตรการที่เสนอในครั้งนี้ (ฉบับใหม่) มีสาระสำคัญแตกต่างไปจากมาตรการฉบับเดิมที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (19 มีนาคม 2562) เห็นชอบไว้ สรุปได้ ดังนี้

มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ
(พ.ศ. 2562-2565) (มาตรการฉบับเดิม)
มาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ (พ.ศ. 2566-2570)
(มาตรการที่เสนอในครั้งนี้)
  • ระยะเวลาการดำเนินการ
4 ปี หรือจนกว่าจะออกมาตรการฉบับใหม่มาใช้บังคับแทน ปรับเป็น 5 ปี หรือจนกว่าจะออกมาตรการฉบับใหม่มาใช้บังคับ เพื่อให้การบริหารกำลังคนภาครัฐสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)
  • องค์ประกอบของมาตรการ
ประกอบด้วย 2 มาตรการ ได้แก่ (1) มาตรการพัฒนาระบบบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์ และ (2) มาตรการบริหารอัตรากำลังปกติ โดยมุ่งเน้นให้ส่วนราชการมีกำลังคนทั้งประเภทและจำนวนให้เหมาะสมสอดคล้องกับการขับเคลื่อนบทบาทภารกิจและโครงสร้างของส่วนราชการ สามารถบริหารกำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่า ประกอบด้วย 2 มาตรการ ลักษณะเดียวกับมาตรการฉบับเดิม แต่จะมุ่งเน้นการควบคุมขนาดกำลังคนและงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

มาตรการฉบับเดิม มาตรการที่เสนอในครั้งนี้
  • หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ คปร. กำหนดตามมาตรการบริหารอัตรากำลังปกติ
1. กรณีการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ
ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ให้ อ.ก.พ. กระทรวง หรือ อ.ก.พ. กรม ปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ ดังนี้
1) ตำแหน่งประเภทบริหารและประเภทอำนวยการ ให้จัดสรรอัตราข้าราชการที่ว่างจากผลการเกษียณอายุคืนส่วนราชการเดิมทั้งหมด (ร้อยละ 100)
2) ตำแหน่งประเภทวิชาการและตำแหน่งประเภททั่วไปให้จัดสรรตามขนาดของส่วนราชการ ดังนี้
จัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ
ขนาดส่วนราชการ คืนทันที ทดแทนด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่น อ.ก.พ. กระทรวงจัดสรร
1. ส่วนราชการขนาดเล็ก
- มีข้าราชการไม่เกิน 300 อัตรา ร้อยละ 100 - -
- มีข้าราชการ 301-1,000 อัตรา ร้อยละ 95 ร้อยละ 5 -
2. ส่วนราชการขนาดกลาง ที่มีข้าราชการ 1,001-5,000 อัตรา ร้อยละ 70 ร้อยละ 10 ร้อยละ 20
3. ส่วนราชการขนาดใหญ่ที่มีข้าราชการ 5,001 อัตราขึ้นไป ร้อยละ 60 ร้อยละ 15 ร้อยละ 25
ทั้งนี้ ส่วนราชการสามารถแจ้งอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุในปีงบประมาณนั้น ๆ หรือนำอัตราว่างอื่นที่เห็นสมควรยุบเลิกแทนอัตราเกษียณอายุได้ตามความจำเป็น แต่จะต้องไม่นำตำแหน่งที่ คปร. หรือ อ.ก.พ. กระทรวงกำหนดเงื่อนไขการใช้ตำแหน่งไว้เป็นการเฉพาะมายุบเลิก
- ปรับแนวทางการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่
(1) ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567 ให้ตรึงอัตรากำลัง ไม่เพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวมโดยชะลอการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้ส่วนราชการมีระยะเวลาในการทบทวนบทบาทภารกิจและ จัดอัตรากำลังแต่ละประเภทให้เหมาะสมกับภารกิจและลักษณะงาน
(2) ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2570
จัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการตามขนาดของส่วนราชการซึ่งเป็นไปตามมาตรการฉบับเดิม
- เพิ่มเงื่อนไขการบริหารอัตรากำลังข้างต้น โดยไม่ควรมีตำแหน่งข้าราชการว่างเกินร้อยละ 5
ของกรอบอัตราข้าราชการทั้งหมดและไม่ควรมีตำแหน่งว่างติดต่อกันเกิน 1 ปี ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คปร. จะติดตามและรายงานต่อ คปร. พิจารณานำตำแหน่งว่าง
มาจัดสรรให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนร่าชการที่มีความจำเป็นต่อไป
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ ดังนี้
1) ตำแหน่งที่เห็นควรจัดสรรคืนทั้งหมด เช่น (1) ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา และ (2) ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป ซึ่งไม่อยู่ในแผนการถ่ายโอนให้แก่ อปท. หรือไม่อยู่ในแผนการควบรวมสถานศึกษา
2) ตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. พิจารณาจัดสรรตามเงื่อนไขเฉพาะกรณี เช่น (1) ตำแหน่งสำหรับบรรจุนักเรียนทุนรัฐบาล (2) ตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษา โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป และไม่อยู่ในแผนการถ่ายโอนให้แก่ อปท. (3) ตำแหน่งในวิทยาลัยสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (4) ตำแหน่งในสถาบันวิทยาลัยชุมชน (5) ตำแหน่งในสังกัดสถาบันพลศึกษา และ (6) ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2)3 ในหน่วยงานการศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งในวิทยาลัยสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ตำแหน่งในสถาบันวิทยาลัยชุมชน และตำแหน่งในสังกัดสถาบันพลศึกษา ให้ดำเนินการเป็นไปตามข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ก.ค.ศ. มิได้มีอำนาจในการพิจารณา
- ขยายเงื่อนไขเฉพาะกรณีให้ครอบคลุมตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในกลุ่มสถานศึกษา4 ที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบรวมสถานศึกษา โดยปรับเป็นตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้สอนในโรงเรียนระดับประถมศึกษาโรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา หรือกลุ่มสถานศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนแบบรวมสถานศึกษา ที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป ในพื้นที่ปกติและไม่อยู่ในแผนการถ่ายโอนให้แก่ อปท.
- เพิ่มมาตรการในการจัดสรรตามเงื่อนไขเฉพาะกรณี โดยให้ ก.ค.ศ. พิจารณานำตำแหน่งที่มีอัตรากำลังครูผู้สอนเกินเกณฑ์อัตรากำลังของ ก.ค.ศ. มากำหนดเป็นตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาให้กับโรงเรียนที่มีนักเรียน 61-119 คน ที่จำเป็นต้องมีผู้บริหารสถานศึกษาในระหว่างดำเนินการตามแผนควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก
- ปรับวิธีการจัดสรรตามเงื่อนไขเฉพาะกรณีสำหรับตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค. (2) เฉพาะตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการและตำแหน่งประเภททั่วไป โดยกำหนดแนวทางการจัดสรรเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญ
ข้าราชการตำรวจ
ให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) พิจารณาจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ ดังนี้
1) ตำแหน่งในภารกิจด้านการถวายความปลอดภัย
2) ตำแหน่งในภารกิจด้านการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
3) ตำแหน่งในภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
4) ตำแหน่งในภารกิจด้านการปราบปรามยาเสพติด
5) ตำแหน่งในภารกิจที่มีเหตุผลความจำเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) นำแนวทางการพิจารณาทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุด้วยการจ้างงานรูปแบบอื่นให้สอดคล้องกับบทบาทภารกิจตลอดจนสนับสนุนให้ใช้อัตรากำลังข้าราชการตำรวจประเภทไม่มียศในภารกิจสนับสนุนการจัดการภายในสำนักงาน ควบคู่กับการใช้อัตรากำลังประเภทอื่น หรือภารกิจอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับลักษณะงานตามภารกิจหลักของ ตช.
การจัดสรรอัตราว่างเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้มาตรการฉบับเดิมแต่ปรับเพิ่ม โดยให้ ตช. ตรึงอัตรกำลัง โดยบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่เพิ่มกรอบอัตรากำลังตั้งใหม่ในภาพรวม
2. กรณีการบริหารอัตรากำลังลูกจ้าง
1) ให้ยุบเลิกอัตราลูกจ้างประจำที่ว่างจากผลการเกษียณอายุและว่างโดยเหตุอื่นในระหว่างปีของทุกส่วนราชการ เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็น ให้เสนอ คปร. พิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป
2) ไม่ให้มีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวจากงบประมาณประเภทงบบุคลากร ยกเว้นการจ้างลูกจ้างชั่วคราว 4 ประเภท เช่น (1) ลูกจ้างชาวต่างประเทศที่มีสัญญาจ้าง และ (2) ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการที่มีสำนักงานในต่างประเทศ กรณีที่จำเป็นต้องจ้างลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าว ให้จัดทำคำขออนุมัติเสนอสำนักงาน ก.พ. พิจารณาเป็นรายกรณี
3) การทบทวนความจำเป็นของการใช้อัตราลูกจ้างชั่วคราวข้างต้น ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เคยได้รับการจัดสรรอัตราลูกจ้างชั่วคราวพิจารณาทบทวนและจัดทำข้อมูลการจ้างลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าว พร้อมทั้งรายงานผลให้สำนักงาน ก.พ. ทราบปีละ 1 ครั้ง (ณ วันที่ 1 ตุลาคม ของปีงบประมาณ) เพื่อรายงานให้ คปร. ทราบต่อไป
คงเดิม
3. กรณีการบริหารกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการ
1) การกำหนดจำนวนพนักงานราชการ ให้ทดแทนอัตราข้าราชการเกษียณ 1 อัตรา ต่ออัตราพนักงานราชการ 1 อัตรา (1 : 1)
2) การกำหนดตำแหน่งพนักงานราชการ ให้กำหนดตามประเภทและลักษณะงานตามกลุ่มงานของพนักงานราชการเป็นประเภททั่วไป เฉพาะ 4 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานบริการ กลุ่มงานเทคนิค กลุ่มงานบริหารทั่วไป และกลุ่มงานวิชาชีพเฉพาะ
3) การกำหนดกรอบระยะเวลาการจ้าง ให้มีระยะเวลาการจ้างได้ไม่เกินกว่าระยะเวลาของกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการระยะ 4 ปี ที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.) อนุมัติโดยไม่นำไปรวมกับกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่เป็นกรอบปกติ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการจ้างในแต่ละรอบให้ส่วนราชการพิจารณาทบทวนบทบาท ภารกิจและความจำเป็นของการใช้อัตรากำลังพนักงานราชการที่ทดแทนเสนอ คพร. พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คพร. ตอบมติอนุมัติการจัดสรรกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการเพิ่มเติมกรณีข้างต้นได้ทันที ยกเว้นกรณีที่คำขอไม่สอดคล้องกับแนวทางที่กำหนดให้เสนอ อ.คพร. และ คพร. พิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป และให้รายงานให้ อ.คพร. และ คพร. ทราบทุกปี
- ปรับแนวทางการบริหารกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ ดังนี้
(1) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566-2567 ให้ชะลอการทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุ ของข้าราชการด้วยกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ
(2) การกำหนดกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ   โดยนำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่ทดแทนอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุในรอบที่ 5 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2567) มานับรวมอยู่ในกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการที่จะให้ คพร. พิจารณาจัดสรรให้กับส่วนราชการในรอบถัดไป คือ รอบที่ 6 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568-2571)
ทั้งนี้ การกำหนดตำแหน่งพนักงานราชการและการกำหนดระยะเวลาการจ้างเป็นไปตามมาตรการฉบับเดิม
4. กรณีการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่
1) เป็นภารกิจหลักของส่วนราชการที่มีความสำคัญเร่งด่วน
2) เป็นภารกิจหลักของส่วนราชการที่เกิดจากการปรับบทบาทภารกิจโครงสร้างส่วนราชการและจัดตั้งส่วนราชการระดับกระทรวงหรือระดับกรมขึ้นใหม่
3) เป็นภารกิจหลักของส่วนราชการที่เกิดจากการปรับบทบาทภารกิจ โครงสร้างส่วนราชการและจัดตั้งจังหวัดขึ้นใหม่ ในส่วนการขอรับการจัดสรรตามข้อ 2)-3) ส่วนราชการต้องพิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังที่มีอยู่เดิมของส่วนราชการต่าง ๆ ทั้งในและต่างกระทรวง กรม มาปฏิบัติภารกิจในระยะแรกแต่ยังมีความจำเป็นต้องขอจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการตั้งใหม่
ทั้งนี้ การขอจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ส่วนราชการ/หน่วยงานจะต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น พร้อมทั้งรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยให้ส่วนราชการที่มีคำขอหารือร่วมกับฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. (สำนักงาน ก.พ.) เพื่อร่วมศึกษาวิเคราะห์และจัดทำคำขอเสนอต่อ อ.ก.พ. กระทรวง หรือองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลกลั่นกรองและให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ คปร. พิจารณา และหาก คปร. ให้ความเห็นชอบอนุมัติจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้แก่ส่วนราชการก็ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่และให้ฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. (สำนักงาน ก.พ.) แจ้งผลการพิจารณาให้ส่วนราชการทราบและดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
- ปรับแนวทางการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่กรณีรองรับภารกิจหลักของส่วนราชการที่เกิดจากการปรับบทบาทภารกิจ โครงสร้างส่วนราชการและจัดตั้งส่วนราชการระดับกระทรวงหรือระดับกรมหรือจังหวัดขึ้นใหม่ โดยกำหนดรายละเอียดของแนวทางการจัดสรรให้ชัดเจนว่าจะให้ส่วนราชการพิจารณาจากแหล่งใด อย่างไร ดังนี้
(1) หากเป็นการตัดโอนภารกิจจากส่วนราชการที่มีอยู่เดิมมาจัดตั้งเป็นส่วนราชการใหม่ ให้ อ.ก.พ. กระทรวงพิจารณาตัดโอนหรือเกลี่ยอัตรากำลังในภารกิจที่เกี่ยวข้อง หรืออัตราว่างที่มีอยู่ของส่วนราชการที่ตัดโอนภารกิจและอัตราว่างของส่วนราชการที่มีอยู่ในกระทรวงให้กับส่วนราชการตั้งใหม่ในระยะแรกก่อน
(2) หากส่วนราชการตั้งใหม่ยังจำเป็นต้องขอรับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มใหม่อาจเสนอ คพร. พิจารณาจัดสรรอัตรากำลังเป็นพนักงานราชการเพื่อปฏิบัติภารกิจไประยะหนึ่งก่อน (1-2 ปี) จากนั้น ให้สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ก.พ.ร. ประเมินความคุ้มค่าของการใช้อัตรากำลังตั้งใหม่เพื่อกำหนดรูปแบบการจ้างงานให้เหมาะสมสอดคล้องกับภารกิจงาน
- เพิ่มกลไกการพิจารณาการจัดสรรอัตราข้าราชการตั้งใหม่ โดยเพิ่มคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ประกอบด้วย สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงบประมาณ สศช. กรมบัญชีกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกหรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองให้ความเห็นต่อข้อเสนอการขอรับการจัดสรรอัตรากำลังตั้งใหม่เพื่อประกอบการพิจารณาของ คปร. เพื่อควบคุมการเพิ่มอัตรากำลังข้าราชการและงบประมาณด้านบุคคลของประเทศในระยะยาว
  • การรายงานข้อมูลอัตรากำลังทุกประเภท
ให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานข้อมูลอัตรากำลังทุกประเภท ณ วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี ให้ คปร. ทราบทุกปีงบประมาณ ให้ส่วนราชการในกำกับของฝ่ายบริหารและหน่วยงานของรัฐมีการเชื่อมโยงข้อมูลกำลังคนภาครัฐทุกประเภทและรายงานข้อมูล ณ วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี ให้สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี

_______________
1 สำนักงาน ก.พ. แจ้งว่า องค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคล ส่วนราชการในกำกับของฝ่ายบริหาร และหน่วยงานของรัฐ หมายถึง รัฐสภา ตุลาการ อัยการ ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การมหาชน และรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่มีและไม่มีองค์กรกลางบริหารทรัพยากรบุคคลของตนเอง
2 ฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. ประกอบด้วย สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง
3 เป็นตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมตรา 38 ค. (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งหมายถึงตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นตามที่ ก.ค.ศ. กำหนดหรือตำแหน่งของข้าราชการที่ ก.ค.ศ. นำมาใช้กำหนดให้เป็นตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
4 กลุ่มสถานศึกษา หมายถึง สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีการจัดการเรียนสอนแบบรวมสถานศึกษาตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป ตามประกาศของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยกลุ่มสถานศึกษาถือเป็นเพียงหนึ่งสถานศึกษา ทั้งนี้ ให้ ก.ค.ศ. จัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในตำแหน่งครูผู้สอนคืนให้กับกลุ่มสถานศึกษาตามเกณฑ์อัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ที่ ก.ค.ศ. กำหนด เพื่อบริหารอัตรากำลังตามความจำเป็น


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar